เศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำรินั้นแตกต่างจากเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของตะวันตก ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องวัตถุที่เป็นรูปธรรม เช่น เงิน ทรัพย์สิน กำไร โดยไม่นำเรื่องของสภาพจิตใจหรือเรื่องนามธรรมมาเกี่ยวข้อง อีกทั้งเศรษฐกิจพอเพียงยังมีขอบเขตที่กว้างขวางกว่าเศรษฐกิจนายทุน หรือเศรษฐกิจธุรกิจ เพราะสามารถครอบคลุมได้ถึง 4 ด้าน คือ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านจิตใจ มิติด้านสังคม และมิติด้านวัฒนธรรม ดังนี้
- มิติด้านเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจแบบพออยู่พอกิน ให้มีความขยันหมั่นเพียรประกอบสัมมาอาชีพ เพื่อให้พึ่งตนเองได้ ให้พ้นจากความยากจน
การปฏิบัติตามเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้ช่วยให้เกษตรกรจำนวนมากมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น มีชีวิตที่เป็นสุขตามสมควรแก่อัตภาพ พ้นจากการเป็นหนี้และความยากจน สามารถพึ่งตนเองได้ มีครอบครัวที่อบอุ่นและเป็นสุข
- มิติด้านจิตใจ
เศรษฐกิจพอเพียงเน้นที่จิตใจที่รู้จักพอ คือ พอดี พอประมาณและพอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้ ไม่โลภ เศรษฐกิจพอเพียงจะต้องเริ่มที่ตัวเอง โดยสร้างรากฐานทางจิตใจที่มั่นคง โดยเริ่มจากใจที่รู้จักพอ เป็นการปฏิบัติตามทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา
- มิติด้านสังคม
เศรษฐกิจพอเพียงมุ่งให้เกิดสังคมที่มีความสุขสงบ ประชาชนมีความเมตตาเอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ มุ่งให้เกิดความสามัคคีร่วมมือกัน เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้โดยปราศจากการเบียนเบียนกัน การเอารัดเอาเปรียบกัน การมุ่งร้ายทำลายกัน
- มิติด้านวัฒนธรรม
หมายถึง วิถีชีวิตของประชาชน เศรษฐกิจพอเพียงมุ่งให้เกิดวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตที่ประหยัด อดออม มีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุนิยมและบริโภคนิยมซึ่งทำให้เกิดการเป็นหนี้เป็นสิน เกิดการทุจริตคอรัปชั่น เป็นปัญหาสังคมที่ร้ายแรงที่สุดปัญหาหนึ่ง ที่บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ
มิติทั้ง 4 ด้านของเศรษฐกิจพอเพียงได้สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ส่งผลดีต่อแค่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อด้านต่างๆ ที่มีส่วนช่วยให้คนในประเทศอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ตามวิถีชีวิตที่ไม่ฟุ้งเฟ้อ และอยู่บนพื้นฐานของความพอดี